การวางแผนเชิงกลยุทธ์
บริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
1.การสรุปกรณีศึกษา
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) และ บริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ยูบีซี ซึ่งเดิมชื่อบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไอบีซี ได้ทำสัญญาร่วมกัน เพื่อดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งได้มีการขยายระยะเวลาและลงนามใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 และวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยสัญญาจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 ภายใต้สัญญาดังกล่าวยูบีซีได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกในประเทศไทยในนามของ อ.ส.ม.ท. โดยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไปยังทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย การส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิ้ลในต่างจังหวัด และการส่งสัญญาณผ่านระบบ MMDS ตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ทั้งนี้บริษัทสามารถใช้ดาวเทียมในการถ่ายทอดสัญญาณไปยังเครื่องส่งสัญญาณในต่างจังหวัดแล้วส่งสัญญาณต่อผ่านสายเคเบิ้ลไปยังบ้านสมาชิกได้
ยูบีซีให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 โดยใช้ระบบ MMDS และได้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท ยูบีซีเริ่มต้นขยายการบริการไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2537 โดยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม 1 ซึ่งดาวเทียมจะทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณไปยังเครื่องส่งสัญญาณ MMDS ในต่างจังหวัด ในปี พ.ศ. 2538 ยูบีซีเริ่มให้บริการในระบบผ่านดาวเทียม (DStv) โดยการส่งสัญญาณในระบบ Ku-band และใช้ระบบการบีบอัดสัญญาณ MPEGII ระบบนี้ทำให้ยูบีซีสามารถเพิ่มจำนวนช่องรายการได้มากขึ้น ปรับปรุงคุณภาพเสียงและภาพให้คมชัดยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถกระจายสัญญาณให้บริการไปยังทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทย ปัจจุบันการให้บริการระบบนี้ถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่าเดิมมาก
ในขณะเดียวกัน อ.ส.ม.ท. และบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 โดยบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกลงที่จะจัดตั้งบริษัทมหาชนขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกผ่านสายเคเบิ้ล ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2537 อ.ส.ม.ท. และ บริษัท ยูบีซี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ ยูบีซีเคเบิ้ล ซึ่งเดิมชื่อ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ ยูทีวี ได้ทำสัญญาร่วมกันเพื่อดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก โดยยูบีซีเคเบิ้ลได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกในนามของ อ.ส.ม.ท. ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สัญญาสัมปทานดังกล่าวจะหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ยูบีซีเคเบิ้ลเริ่มให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระบบเคเบิ้ล (Catv) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 ผ่านโครงข่ายผสมระหว่างเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงและเคเบิ้ล coaxial ที่ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2537 ด้วยเทคโนโลยีของโครงข่ายเคเบิ้ลดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถให้บริการสมาชิกได้ตามจำนวนช่องมากเท่าที่เท่าที่ต้องการ ด้วยคุณภาพสัญญาณภาพและเสียงที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสามารถให้บริการเสริมอื่นๆ เช่น การถ่ายทอดรายการตามคำสั่ง (pay per view) ได้อีกด้วย โดย ณ ปี พ.ศ. 2540 โครงข่ายเคเบิ้ลผ่านบ้านถึงประมาณ 800,000 หลังคาเรือน และในปีพ.ศ. 2540 นั้นเอง ยูบีซีเคเบิ้ล ได้ขายโครงข่ายเคเบิ้ลให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน คือ บริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด ทั้งนี้เพื่อที่ ยูบีซีเคเบิ้ล จะได้ทุ่มทรัพยากรของบริษัทไปในการจัดหารายการ การนำเสนอรายการ ตลอดจนการให้บริการสมาชิกได้อย่างเต็มที่
ในช่วงแรกของการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งให้บริการด้วยเทคโนโลยีระบบอนาลอค MMDS นั้น คุณภาพของสัญญาณยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ภาพและเสียงมีคุณภาพต่ำ อีกทั้งเนื้อหาของรายการที่นำเสนอยังไม่แตกต่างไปจากคู่แข่งอื่นๆ มากนัก เป็นผลให้คุณภาพของบริการโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ แต่ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เมื่อยูบีซีเคเบิ้ล เริ่มให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระบบเคเบิ้ล ในขณะที่ยูบีซีเริ่มให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระบบผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ดีในช่วงดังกล่าวนับว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงมาก เพราะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ถึง 3 ราย ได้แก่ ยูบีซี ยูบีซีเคเบิ้ล และ ไทยสกาย และยังมีผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคอีกจำนวนมาก ซึ่งต่างกับธุรกิจนี้ในประเทศอื่นเนื่องจากรัฐได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ทำให้ผู้ประกอบการต่างประสบภาวะขาดทุนจำนวนมากเพราะต่างพยายามสร้างและครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการแบกรับภาระการลงทุนด้านอุปกรณ์ และเพิ่มจำนวนช่องรายการโดยไม่ปรับขึ้นค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่าแผนธุรกิจดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้นไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจเริ่มเป็นที่ประจักษ์เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 และประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนหลักของธุรกิจนี้ต้องจ่ายเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (ในบางกรณีคาดว่าสูงถึงร้อยละ 60) การอ่อนค่าของเงินบาทจึงทำให้โครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นมาก
จากสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ ไทยสกาย ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รายได้กลับลดลง อีกทั้งการอ่อนค่าลงของเงินบาทยังมีผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนและแผนธุรกิจของบริษัท จึงได้หยุดกิจการลงเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2540 จากการปิดกิจการของ ไทยสกาย, การลดค่าของเงินบาท ตลอดจนผลขาดทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกรายใหญ่ที่เหลืออยู่ 2 รายในขณะนั้นได้ตระหนักว่าอาจจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน หากไม่มีการรวมกิจการ และต่างฝ่ายต่างยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป
ดังนั้นจึงเกิดการรวมกิจการระหว่าง ยูบีซี และยูบีซีเคเบิ้ล ขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 โดยยูบีซีซื้อธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระบบเคเบิ้ล ซึ่งดำเนินการโดยยูบีซีเคเบิ้ล ด้วยการแลกกับหุ้นจำนวนร้อยละ 49.5 ของยูบีซี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ยูบีซี ซื้อหุ้น ยูบีซีเคเบิ้ล ร้อยละ 97.9 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เทเลคอมโฮลดิ้ง จำกัด
- ยูบีซี ซื้อหุ้นบริษัท ซีนิเพล็กซ์ จำกัด ร้อยละ 99.9 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เทเลคอมโฮลดิ้ง จำกัด
- บริษัท แซทเทลไลท์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของยูบีซี ที่ให้บริการเกี่ยวกับระบบสื่อสัญญาณ ซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณและอุปกรณ์สื่อสัญญาณระบบเคเบิ้ลที่เกี่ยวข้องจากบริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด และ บริษัท เน็ทเวิร์ค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด
- มีการทำสัญญาระหว่างยูบีซีเคเบิ้ล ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของยูบีซี กับบริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด โดยยูบีซีเคเบิ้ลตกลงเช่าโครงข่ายเคเบิ้ลของเอเชีย มัลติมีเดีย และเอเชีย มัลติมีเดีย ตกลงให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ แก่ยูบีซีเคเบิ้ล
ภาพที่ 1.1 แสดงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทในเครือของ ยูบีซี
ทั้ง 2 บริษัทเชื่อว่าการที่จะประกอบธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกในประเทศไทยให้มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจนั้น จะต้องอาศัยฐานสมาชิกที่ใหญ่มาก ซึ่งจุดมุ่งหมายในการรวมกิจการก็เพื่อให้สามารถขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน นอกจากนั้นการรวมกิจการยังเอื้ออำนวยให้บริษัทสามารถให้บริการสมาชิกด้วยคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น พร้อมช่องรายการที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
บริษัทได้มีการปรับกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ ใหม่หลังการรวมกิจการ มีการนำกระบวนการและระบบการให้บริการสมาชิกระบบใหม่มาใช้ให้บริการ มีการปรับราคา ตลอดจนมีการปรับโครงสร้างและนโยบายการบริการลูกค้าใหม่ นอกจากนั้นยังได้ปรับนโยบายในการให้เครดิตกับสมาชิกโดยการดำเนินมาตรการที่เข้มงวด และจะยกเลิกสัญญาณสมาชิกทันทีที่ค้างชำระเกินกำหนดและก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541 บริษัทได้ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายได้ขายหุ้นให้แก่สถาบันลงทุนต่างประเทศเป็นการเฉพาะเจาะจง เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,860.4 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินสดเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ อีกทั้งยังมีเงินสดสำรองเหลือเพียงพอต่อการขยายงานต่อไปด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 กลุ่ม ยูบีซี ได้ยกเลิกการให้บริการในระบบอนาลอค MMDS เนื่องจากคุณภาพของสัญญาณไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการให้บริการ โดยไม่สามารถให้บริการตามจำนวนช่องที่กลุ่มยูบีซีให้บริการอยู่ได้ และหันมามุ่งเน้นให้บริการในระบบ DStv และ Catv แทน และในปี พ.ศ. 2543 เราได้เริ่มศึกษาและทดลองการให้บริการระบบดิจิตอล MMDS เพราะเชื่อว่าระบบนี้จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดกับระบบอนาลอคเดิมได้ เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบดิจิตอล MMDS จะทำให้สามารถให้บริการตามช่องรายการที่ให้บริการอยู่ได้ ด้วยสัญญาณภาพและเสียงที่มีคุณภาพ พร้อมระบบการใส่รหัสสัญญาณที่มีคุณภาพดีขึ้นด้วย
การปรับระบบและกระบวนการทำงานภายหลังการรวมกิจการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ในกลางปี พ.ศ. 2542 และนับจากนั้นเป็นต้นมากลุ่ม ยูบีซี มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของจำนวนสมาชิก รายได้ต่อสมาชิก และรายได้รวม ซึ่งในระหว่างไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2544 กลุ่มยูบีซีสามารถเพิ่มฐานสมาชิกเป็น 400,000 ราย และยังคงขยายฐานสมาชิกอย่างต่อเนื่องไปยังทั่วประเทศ
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ยูบีซีเคเบิ้ลเริ่มให้บริการระบบดิจิตอลเคเบิ้ลเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยยูบีซีเคเบิ้ลได้เจรจาตกลงกับบริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด ในการขอใช้ช่องความถี่เพิ่มเติมเพื่อการแพร่สัญญาณบริการระบบดิจิตอลซึ่งเหมือนกับบริการระบบผ่านดาวเทียมของยูบีซีทุกประการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ยูบีซีเคเบิ้ลคาดว่าจะยุติการให้บริการระบบอนาลอคในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะนำช่องความถี่ที่ใช้ในการส่งสัญญาณระบบ อนาลอคเดิมมาใช้ส่งสัญญาณระบบดิจิตอลแทน อันจะทำให้ยูบีซีเคเบิ้ลสามารถนำเสนอบริการอื่นๆ ได้มากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มช่องความถี่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ต่อช่องความถี่ด้วย