ผู้บริหารที่ต้องการประสบความสำเร็จในอนาคต จะต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาการบริหารเชิงกลยุทธ์ เพราะโลกในการบริหารธุรกิจมีความสลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าผู้บริหารขาดความชำนาญในการกำหนดกลยุทธ์และการปฎิบัติตามกลยุทธ์จะทำให้ธุรกิจต่อสู้กับคู่แข่งขันไม่ได้ ดังนั้นผู้บริหารในระดับองค์การต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์ และกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่มีรูปแบบ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญตามหน้าที่ ก็จะต้องเข้าใจแนวความคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์พื้นฐานด้วยเช่นกัน

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

กลยุทธ์ลงทุนแบบจีน

ตัวอย่าง(ข่าว)-กลยุทธ์ลงทุนแบบจีน

ถ้าพูดถึง"กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง" วันนี้คงไม่มีกองทุนไหนมาแรงเท่ากับ ไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ปอเรชั่น หรือซีไอซี ของรัฐบาลจีน แม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้น เมื่อ 29 กันยายน 2550 ด้วยเงินทุนที่จัดสรรมาจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลจีน จำนวน 200,000 ล้าน

ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในเวลาเพียงไม่นานซีไอซีก็สามารถถือครองสินทรัพย์ได้เป็นจำนวนมาก จากการกว้านซื้อธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลเปิดเผยกับคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา (เอสอีซี)เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่าในปี 2552 ซีไอซีถือครองหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯรวม 963,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยบริษัทที่เข้าไปซื้อกิจการมีตั้งแต่บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก ไฮเทค เทเลคอม และยา นอกเหนือจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่จีนถือครองหรือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่แล้ว
เป้าหมายที่ทางการจีนตั้งกองทุนซีไอซีขึ้นมา ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุน ที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาจีนใช้เม็ดเงิน 2 ใน 3 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของรัฐ นำไปลงทุนในพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และพันธบัตรอื่นๆแต่ผลตอบแทนในการลงทุนที่กลับมามีแต่ต่ำลงเหตุเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดค่าลงเรื่อยๆ ทางการจีนจึงหวังใช้ประโยชน์จากทุนสำรองผ่านกองทุนซีไอซีไปต่อเงินให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติที่ดีกว่าเดิม โดยใช้โมเดลเดียวกับ "เทมาเสก โฮลดิ้งส์" ของสิงคโปร์
ซึ่งตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของซีไอซี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2553 ได้หันมาโฟกัสกลุ่มธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนที่เกิดจากผลกระทบวิกฤติการเงิน นอกจากนี้สินค้าโภคภัณฑ์ยังช่วยลดภาวะเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อความเสี่ยงได้ดี อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ที่เป็นแหล่งทรัพยากรและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้ให้กับจีน
จากข้อมูลที่ซีไอซีแจ้งกับ เอสอีซี พบว่าหุ้นที่ถือครองมากที่สุด เป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ เทค รีสอร์ซ ในแคนาดา 3.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, มอร์แกน สแตนเลย์ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, แบล็คล็อค 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, วาลส์ เอเอ ในบราซิล 498 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, Chesapeake อีเนอร์จี คอร์ป 5.2 ล้าน คินรอสส์กรุ๊ป คอร์ป 4.6 ล้าน อนาดาร์โค ปิโตรเลียม 6.2 ล้าน อีทีเอฟ 350 ล้าน ในกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อาร์เซลอร์มิททาล 9.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังกระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น รีเสิร์ช อินโมชั่นผู้ผลิตแบล็คเบอร์รี่, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ และอื่นๆ ได้แก่ เมอร์ค แอนด์ โค, เม็ทไลฟ์ อิงค์, กูดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์, แบล็กล็อค อิงค์ 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, แบงก์ออฟ อเมริกา คอร์ป 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ , อเมริกัน อีเกิล เอ้าฟิตเตอร์ 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, โคคา-โคลา 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, นิวส์ คอร์ปอเรชั่น 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแอปเปิล คอมพิวเตอร์
ถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลครั้งแรกของซีไอซี ยังไม่รวมในประเทศอื่นๆอีก
และนอกจากกองทุนซีไอซีแล้ว รัฐวิสาหกิจของจีนอีกหลายแห่งก็กลายเป็นอีกเครื่องมือในการใช้ลงทุน เช่น ซีนุก ที่เคยหันหลังให้ธุรกิจในสหรัฐฯเพราะเคยไปเสนอซื้อธุรกิจยูโนแคล บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ มูลค่า 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯขัดขวางอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและเปิดทางให้เชฟรอนซื้อยูโนแคลไปแทน
หลังจากนั้นซีนุกและรัฐวิสาหกิจจีนก็หันไปซื้อและร่วมทุนกิจการนอกสหรัฐฯแทน เช่นในบราซิล เวเนซุเอลา อิหร่าน ซูดาน แองโกลา ปีที่ผ่าน ซิโนเปค รัฐวิสาหกิจจีนอีกแห่งเข้าไปซื้อกิจการแอ็ดแด็กปิโตรเลียม มูลค่า 7.2 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงสินทรัพย์ในไนจีเรีย และในอิรัก ขณะที่ซีนุก ล่าสุดเข้าไปแข่งกับแอ็กซอนโมบิลและบีพี ซื้อสัมปทานในกานา หลังจากที่ปลายปีที่แล้ว ซีนุกหวนกลับเข้าไปซื้อหุ้น กัล์ฟ ออฟ เม็กซิโก ในสหรัฐฯ จากสเตต ออยของนอร์เวย์
สำหรับปีนี้ ประธานซีไอซีคนปัจจุบัน นายหลัว จี่เหวย ประกาศว่าจะปรับกลยุทธ์ และยุทธศาสตร์การลงทุนของซีไอซี รวมทั้งปรับดุลการถือครองสินทรัพย์และเม็ดเงินลงทุนให้เหมาะสมมากขึ้น และใช้โอกาสที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เตรียมขยายการลงทุนเข้าไปในด้านธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรม และโปรดักต์ที่มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้การลงทุนในต่างประเทศสร้างผลตอบแทนที่ดีมากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองการลงทุนของซีไอซีไม่ใช่แค่เรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน แต่เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านซัพพลายทรัพยากรรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในระยะยาว
ที่สำคัญจีนจะไม่ปล่อยให้กลยุทธ์การลงทุนแบบจีนเดินตามรอยพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่นที่เคยรุ่งเรืองในอดีต และสุดท้ายต้องล่มสลายให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,507 21-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


ข้อมูลจาก

การบริหารเชิงกลยุทธ์และกรณีศึกษา
ร.ศ.ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ